เมนู

4. ปเรสสูตร



ว่าด้วยเหตุให้เกิดการเจรจาธรรม



[483] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย (ธรรม) กถา ย่อมเป็นไปได้ด้วย
สถาน 3 สถาน 3 คืออะไร คือ ผู้ใดแสดงธรรม ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ได้รสอรรถ
ได้รสธรรม ผู้ใดฟังธรรม ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ได้รสอรรถ ได้รสธรรม ผู้
แสดงธรรมและผู้ฟังธรรม ย่อมเป็นผู้ได้รสอรรถได้รสธรรมด้วยกันทั้งสองฝ่าย
ภิกษุทั้งหลาย (ธรรม) กถา ย่อมเป็นไปได้ด้วยสถาน 3 นี้แล.
จบปเรสสูตรที่ 4

อรรถกถาปเรสสูตร



พึงทราบวินิจฉัย ในปเรสสูตรที่ 4 ดังต่อไปนี้:-
บทว่า ฐาเนหิ แปลว่า โดยเหตุทั้งหลาย. บทว่า ปวตฺตนี ความว่า
ไม่ถูกคัดค้าน คือนำไปได้.
จบอรรถกถาปเรสสูตรที่ 4

5. ปัณฑิตสูตร



ว่าด้วยสิ่งที่บัณฑิตบัญญัติไว้ 3 ประการ



[484] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม 3 ประการนี้ บัณฑิตได้บัญญัติไว้
สัตบุรุษได้บัญญัติไว้ ธรรม 3 ประการ คืออะไร คือ ทาน 1 บรรพชา 1
มาตาปิตุอุปัฏฐาน 1 นี่แล ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตบัญญัติ สัปปุริสบัญญัติ
3 ประการ

ทาน อหิงสา สัญญมะ ทมะ การ
บำรุงมารดาและบิดา เป็นข้อที่สัตบุรุษ
ทั้งหลายตั้งขึ้นไว้ ข้อเหล่านั้นเป็นฐานะแห่ง
สัตบุรุษผู้สงบระงับเป็นพรหมจารี ซึ่งเป็น
ฐานะที่บัณฑิตพึงเสพ บัณฑิต (ผู้เสพ
ฐานะเหล่านั้น) เป็นอริยะ ถึงพร้อมด้วย
ความเห็น ย่อมไปสู่โลกอันเกษม.

จบปัณฑิตสูตรที่ 5

อรรถกถาปัณฑิตสูตร



พึงทราบวินิจฉัย ในปัณฑิตสูตรที่ 5 ดังต่อไปนี้:-
บทว่า ปณฺฑิตปญฺญตฺตานิ ความว่า อันบัณฑิตทั้งหลายบัญญัติไว้
คือกล่าวไว้ ได้แก่สรรเสริญแล้ว. บทว่า สปฺปุริสปญฺญตฺตานิ ความว่า
อันสัตบุรุษทั้งหลาย คือ มหาบุรุษทั้งหลาย บัญญัติไว้แล้ว คือกล่าวไว้แล้ว
ได้แก่สรรเสริญแล้ว.
ทั้งกรุณา ทั้งธรรมที่เป็นเบื้องต้นของกรุณา ชื่อว่า อหิงสา. การ
สำรวมในศีล ชื่อว่า สังยมะ. การสำรวมอินทรีย์ หรือการฝึกตนด้วยอุโบสถ
ชื่อว่า ทมะ. ส่วนในปุณโณวาทสูตร พระองค์ตรัสเรียกขันตว่า ทมะ.
แม้ปัญญาที่ตรัสไว้ ในอาฬวกสูตร ก็เหมาะสมในพระสูตรนี้เหมือนกัน.